มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์

ประวัติศาสตร์ศิลปะ - ความคิดใหม่ ความรู้ใหม่

ผู้เขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์
เมธีวิจัยอาวุโสสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ
สิ่งพิมพ์ - Publications

บทความ - Articles

ร่างลำดับเหตุการณ์ของประติมากรรมที่พบที่สทิงพระ

แปลโดย พรพิมล เสนาะวงศ์

เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดีบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ วันที่ ๘-๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖, สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ๒๕๒๖. (อัดสำเนา)

ในบทความนี้พิริยะกล่าวถึง “สทิงพระ” (ปัจจุบันคืออำเภอหนึ่งทางทิศเหนือของจังหวัดสงขลา) ซึ่งนับเป็นแหล่งค้นคว้าทางด้านโบราณคดีที่ได้รับการศึกษาอย่างละเอียดที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเทียบเคียงผลจากการค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเข้ากับการค้นคว้าทางด้านโบราณคดี โดยแสดงเป็นร่างลำดับเหตุการณ์โดยสังเขป สำหรับศิลปวัตถุที่พบที่สทิงพระ จากการแบ่งศิลปะในประเทศไทยเป็น ๘ สมัย ตามหลักการพื้นฐานที่ว่าด้วยอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่มีอำนาจครอบงำนั้น พิริยะพิจารณาว่าศิลปวัตถุส่วนใหญ่ที่พบที่สทิงพระสามารถกำหนดอายุอยู่ในระหว่างสมัยอิทธิพลมอญจนถึงสมัยอิทธิพลมอญ – หริภุญชัย หรือประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (คริสต์ศตวรรษที่ ๕ ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓) ซึ่งจากการค้นคว้าทางโบราณคดีทำให้ทราบว่าการตั้งชุมชนที่สทิงพระสามารถแบ่งออกเป็น ๒ ยุคคือ ยุคก่อนเมือง (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑) และยุคเมือง (กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙)

ทั้งนี้ จากการเทียบเคียงระหว่างการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะของประติมากรรมที่พบในบริเวณสทิงพระและการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้เกิดข้อถกเถียงใหม่ขึ้นมา โดยสรุปได้ว่าทั้งสองสาขาเห็นพ้องในหลักการที่ “ยุคเมืองยุคที่หนึ่ง (กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๔)” ของสทิงพระเป็นตัวแทนของสมัยอิทธิพลมอญในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และสองศตวรรษของ “ยุคเมืองยุคที่สอง (ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙)” ได้แสดงให้เห็นลักษณะวัฒนธรรมอินโดนีเซียอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม สำหรับยุคเมืองยุคที่สองนี้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ได้สนับสนุนข้อสรุปทางโบราณคดีที่ว่าการโจมตีสทิงพระครั้งหลังทำให้ยุคเมืองยุคที่สองสิ้นสุดลงในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เนื่องจากการที่มีงานศิลปะเกิดขึ้นน้อยในช่วงเวลานี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าอิทธิพลของแบบศิลปะอินโดนีเซียในสทิงพระเริ่มเสื่อมถอยมาตั้งแต่ช่วง ๒ ศตวรรษก่อนยุคเมืองยุคที่สองจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยปรากฏงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ด้วย ส่วน “ยุคเมืองยุคที่สาม (ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙)” นั้น ทางประวัติศาสตร์ศิลปะพิจารณาว่าเป็นยุคที่สองที่ขยายเวลาออกมา เนื่องจากเป็นยุคที่มีระยะเวลาสั้นมากและไม่พบศิลปวัตถุที่มีอายุเวลา ในช่วงนี้หลงเหลืออยู่เลย

มองศิลปะสู่ลักษณะไทย

“มองศิลปะสู่ลักษณะไทย,”  ๘๐ ปี อาจารย์ คุณนิออน  สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รวมงานเขียนทางวิชาการไทยศึกษา. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๓.

ผู้เขียนแสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อนี้ในงานสัมมนาวิชาการ “ความรู้เรื่องไทยในโลกไร้พรมแดน” เนื่องในโอกาสครบรอบ ๘๐ ปี อาจารย์ คุณนิออน  สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาพุทธศิลป์ในรัชกาลปัจจุบันเพื่อแสดงให้เห็นว่า ศิลปกรรมเป็นปูชนียวัตถุสถานที่สร้างขึ้นในลัทธิชาตินิยมที่อำพรางตนอยู่ในพุทธศาสนาทั้งสิ้นและเป็นสิ่งสะท้อนความชาญฉลาดในการประสานประโยชน์ให้สถาบันกษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพุทธศาสนา ทำให้ลัทธิชาตินิยมกลายเป็นศาสนาใหม่ซึ่งถือกำเนิดจากคณะธรรมยุติกนิกายและมีพัฒนาการขึ้นพร้อมกับระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยเข้ามาแทนที่พุทธศาสนาแบบดั้งเดิมทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาให้ความจงรักภักดีแด่ “ชาติ” และเทิดทูนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของลัทธินี้โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ให้อยู่คู่แผ่นดินสืบต่อไป

พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์, รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘, หน้า ๓๘-๘๕.

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาเข้าสู่ยุคใหม่ที่ความเจริญและอิทธิพลของชาติตะวันตกกำลังขยายมาทางโลกตะวันออก ด้วยสายพระเนตรกว้างไกลที่ทรงมีต่อสถานการณ์ในเวลานั้น จึงทรงเปิดการค้าขายและทรงเจริญพระราชไมตรีกับประเทศตะวันตก โดยแต่งตั้งราชทูตไทยไปยังราชสำนักอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งยังทรงศึกษาและรับความก้าวหน้าทางวิทยาการตะวันตก เช่น การแพทย์ วิทยาศาสตร์ การข่าว ภาษาอังกฤษ เข้ามาในราชสำนัก และทรงวางรากฐานในการปรับปรุงบ้านเมืองโดยเน้นที่การศึกษาในหมู่พระราชโอรสและข้าราชการระดับสูงเพื่อรับมือกับความเจริญที่เข้ามาได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน จากการที่ทรงรับรู้ความเคลื่อนไหวของโลกภายนอกอย่างเท่าทัน จึงทำให้พระองค์ทรงตระหนักถึงเรื่องคุณค่าของความเป็นชาติที่มีอดีตอันยาวนานต่อเนื่อง โดยสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนคือ พระพุทธศาสนา ที่เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยมาอย่างยาวนาน ในรัชกาลของพระองค์จึงมีการค้นพบพระพุทธรูปและเทวรูปหลายองค์ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วย ได้แก่ พระนิรันตราย (องค์ครอบนอก) และพระสยามเทวาธิราช

ผ้าบรรพบุรุษของชาวมอญ

“ผ้าบรรพบุรุษของชาวมอญ,” วารสารไทยคดีศึกษา, ๒: ๒ (เมษายน – กันยายน) ๒๕๔๘, หน้า ๑ – ๓๔.

บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่นำเสนอในการประชุมทางวิชาการเรื่อง “Status, Myth and the Super-natural: Unravelling the Secrets of Southeast AsianTextiles” จัดโดย มูลนิธิเจมส์ เอช ดับบลิว ทอมป์สัน ระหว่างวันที่๔ – ๕ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพฯ เป็นบทความที่เกิดจากข้อสังเกตของผู้เขียนที่ว่ายังไม่มีเรื่องราวผ้ามอญปรากฏอยู่ในการศึกษาเรื่องผ้าในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เนื่องจากความหวาดกลัวภัยคุกคามทางการเมือง ทำให้คนมอญในพม่าจำเป็นต้องเก็บซ่อนความเป็นชาติพันธุ์ของตนไว้เฉพาะภายในกลุ่ม แม้กระนั้น ในบ้านเรือนของคนมอญยังคงมีการเก็บรักษาผ้าบรรพบุรุษที่มีลักษณะเป็นผ้านุ่งผืนยาวปลายด้านหนึ่งเย็บเป็นถุงรูปตัววี ทอลายทาง ลายตาราง และลายตาหมากรุก เรียกว่า“เกริดฮะโลน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเชื่อเรื่องผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษของคนมอญไว้ในตะกร้าที่เสาผีเรือนสิ่งนี้ถือเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อ ความหวัง และความหวาดกลัวของชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์ผ่านทางประวัติศาสตร์ภาษา และขนบประเพณี

ประวัติศาสตร์ศิลปะอยุธยา

อยุธยากับเอเชีย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, ๒๕๔๔.

ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลครบ ๖ รอบ แห่งพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “อยุธยากับเอเชีย” เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ (ค.ศ. ๑๙๙๙) จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย พิริยะได้เสนอบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะอยุธยา สาระสำคัญคือ พิริยะมีความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องศึกษาทบทวนเกี่ยวกับการจำแนกศิลปะอยุธยาตามการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อในพุทธศาสนาจากแต่เดิมที่มีการกำหนดอายุเวลาของศิลปะสมัยอยุธยาตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เป็น ๔ ยุค เนื่องจากไม่สอดคล้องกับองค์ความรู้ที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยบทความนี้แสดงให้เห็นว่า จากเดิมที่จำแนกพระปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดพระราม เป็นตัวอย่างของศิลปะในยุคที่ ๑ หรือยุคต้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ถึงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ลงมา และสถูปทรงลังกาเป็นสถาปัตยกรรมในยุคปลายอยุธยา มิใช่ศิลปะในยุคที่ ๒ หรือยุคกลางระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และไม่มีสิ่งก่อสร้างใดที่เก่ากว่าช่วงระยะนั้นหลงเหลืออยู่

นอกจากนี้ยังต้องมีการศึกษาทบทวนศิลปะสุโขทัยใหม่เช่นกัน เพราะบทความนี้ชี้ให้เห็นว่าโบราณสถาน ที่สุโขทัยและสวรรคโลก (อำเภอศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน) มิได้สร้างขึ้นในสมัยที่ราชวงศ์ พระร่วงปกครองอาณาจักรสุโขทัย (ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ – กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕) แต่สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ลงมาจนถึงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในช่วงที่สุโขทัยและสวรรคโลกและกำแพงเพชรมีฐานะเป็นเมืองโทของกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ พิริยะสรุปไว้ว่า การปรับเปลี่ยนอายุเวลาของโบราณสถานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุโขทัยและสวรรคโลก รวมทั้งกำแพงเพชรนั้น มิได้ทำให้ความเก่าแก่ของเมืองเหล่านี้ลดน้อยลง เพราะพบศิลปวัตถุที่สร้างขึ้นในอาณาจักรเสียนก่อนที่ชาวขอมจะรวมตัวกันสถาปนากรุงศรีอยุธยา เพียงแต่ศาสนสถานที่สร้างขึ้นในช่วงก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ไม่หลงเหลืออยู่เท่านั้น

ประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัยโครงสร้างที่ต้องเปลี่ยนแปลง

สยามอารยะ, ๒: ๑๙ (กรกฎาคม ๒๕๓๗), หน้า ๑๕-๔๒.

จากการทบทวนงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ (ค.ศ. ๑๙๐๘) พิริยะได้ชี้ให้เห็นว่า การค้นคว้าทั้งหมดของบรรดานักวิชาการที่ได้กระทำมาล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างภาพประวัติศาสตร์สุโขทัยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มงกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองเหนือ ซึ่งในเวลานั้นหมายถึงกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย และพิษณุโลก ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗) และทรงพิมพ์หนังสือในปีต่อมา เพื่อเผยแพร่การค้นคว้าของพระองค์ในการอธิบายความเป็นมาเกี่ยวกับโบราณสถานของเมืองเหล่านี้ลงใน “เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง” โดยที่พระองค์ทรงกำหนดอายุโบราณสถานที่สุโขทัย สวรรคโลก และกำแพงเพชร ด้วยวิธีการเทียบเคียงกับศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกของพญาลิไท ทั้งนี้เหล่านักวิชาการร่วมสมัยและในยุคต่อมาต่างพยายามระบุว่าโบราณสถานสำคัญที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย มีอายุเวลาอยู่ใน “สมัยสุโขทัย” คือ ระหว่าง พ.ศ. ๑๗๖๓ – ๑๘๘๑ (ค.ศ. ๑๒๒๐ – ๑๓๓๘) ซึ่งความคิดนี้ได้ครอบงำนักวิชาการส่วนใหญ่มาเป็นเวลานาน โดยไม่มีนักวิชาการคนใดสอบสวนเหตุผลวิธีการวิเคราะห์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิ-ราชฯ เลย ดังนั้นข้อถกเถียงระหว่างนักวิชาการจึงอยู่ภายในกรอบของความรู้ที่คนทั่วไปรับทราบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัย อย่างไรก็ตาม พิริยะเห็นว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงวิเคราะห์ไปเช่นนั้นก็เพื่อปลูกฝังคนไทยให้ตระหนักถึงวัฒนธรรมอัน “ศิวิไลซ์” ในอดีตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุโขทัย

รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีพัทลุง

พัทลุง : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงเรียนสตรีพัทลุง, ๒๕๓๑.

ในเรื่องเกี่ยวกับศิลปโบราณวัตถุที่พัทลุง พิริยะตั้งข้อสังเกตว่าแม้พัทลุงจะมีศิลปโบราณวัตถุที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก แต่งานค้นคว้าในเรื่องดังกล่าวกลับมีอยู่น้อยมากอย่างน่าเสียดาย เพราะ นับตั้งแต่มีการตีพิมพ์บทความการสำรวจของพันเอก เอ็ม แอล เดอ ลาจองเคีย (M.L. de Lajonquiere) เรื่อง “Essai d’ inventire arche’ ologique du Siam,” ในวารสาร Bulletin de la Commission Arche’ ologique de l’ Indochine ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ (ค.ศ. ๑๙๑๒) ก็ยังไม่มีงานสำรวจอย่างละเอียดอีกเลย จนมาถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ (ค.ศ. ๑๙๘๒) ที่นายชัยวุฒิ พิยะกูล เจ้าหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ได้รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองพัทลุง พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือเรื่อง “โบราณคดีวิทยาเมืองพัทลุง” ซึ่งนับเป็นผลงานด้านวิชาการที่มีคุณค่าและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมาและทำให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองพัทลุงกระจ่างมากขึ้น

สำหรับพิริยะ จากการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะพัทลุงในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐ – ๒๓๑๐ (ค.ศ. ๖๗๕ – ๑๗๖๗) ได้เป็น ๒ ระยะกว้างๆ คือ (๑) ศิลปกรรมในช่วงเวลา พ.ศ. ๑๒๐๐ – ๑๔๕๐ (ค.ศ. ๖๕๗ – ๙๐๗) โดยช่วง ๕๐ ปีแรก ศิลปกรรมเป็นพระพิมพ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับศิลปะมอญที่สร้างขึ้นในภาคกลางของประเทศไทยในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ส่วนที่สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๓๕๐ -๑๔๐๐ (ค.ศ. ๘๐๗ – ๘๕๗) มีลักษณะใกล้เคียงกับศิลปกรรมที่เกาะชวาและบาหลีในลัทธิมหายานนิกายวัชรยาน (๒) ศิลปกรรมในช่วงเวลา พ.ศ. ๑๘๕๐ – ๒๓๑๐ (ค.ศ. ๑๓๐๗ – ๑๗๖๗) เจริญรุ่งเรืองขึ้นที่ปละท่าตะวันตกของทะเลสาบสงขลา โดยแบ่งออกเป็นสามยุค ได้แก่
๑. ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๕๐ – ๑๙๕๐ (ค.ศ. ๑๓๐๗ – ๑๔๐๗) เป็นช่วงระยะเวลาที่ปละท่าตะวันตกเริ่มมีบทบาทเท่าเทียมกับปละท่าตะวันออกของทะเลสาบ และยังเป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิสังขรณ์วัดเขียนบางแก้ว ศิลปกรรมในช่วงนี้เริ่มมีรูปแบบร่วมลักษณะศิลปกรรมที่เพชรบุรีและไชยา
๒. ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐๐ – ๒๑๕๐ (ค.ศ. ๑๔๕๗ – ๑๖๐๗) เป็นช่วงระยะเวลาที่ศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่บริเวณวัดเขียนบางแก้ว ซึ่งมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจและทางศาสนา ทั้งยังอยู่ภายใต้การควบคุมของนครศรีธรรมราชและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแม่แบบของศิลปกรรมในช่วงนี้
๓. ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๕๐ – ๒๓๑๐ (ค.ศ. ๑๖๐๗ – ๑๗๖๗) ช่วงเวลานี้ศูนย์กลางความเจริญไปอยู่ที่เมืองชัยบุรี และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนครศรีธรรมราชและพระนครศรีอยุธยา แต่เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมในรูปแบบที่เป็นของตนเองมากขึ้น

นอกจากนี้ยังปรากฏผลงานที่มีอายุเวลานอกเหนือจากที่กล่าวไว้ข้างต้นแต่มีเป็นส่วนน้อย เช่น หม้อเขียนสี ที่ตัวภาชนะขูดเป็นลายก้านขดและเขียนด้วยสีดำและแดง พบในบริเวณจังหวัดพัทลุง ซึ่งหม้อประเภทนี้มักจะพบในถ้ำและมีลักษณะใกล้เคียงกับภาชนะในยุคหินใหม่โดยเฉพาะในวัฒนธรรมดองซอน (Dông-son) และที่สำโรงเซนต์ (Samrong Sèn) และมลูพเร (Mlu Prei) ในประเทศกัมพูชา

ประวัติศาสตร์ศิลปะ ทัศน์ศิลปเชิงปฏิบัติการ Practicum in Visual Art

กรุงเทพฯ : เม็ดทราย, ๒๕๒๐, หน้า ๒๑-๕๙.

ในบทความเชิงวิชาการประกอบนิทรรศการ “ทัศน์ศิลปเชิงปฏิบัติการ” เรื่องนี้ พิริยะอธิบายความหมายของคำว่า “ศิลปะ” ทั้งความหมายเดิมที่หมายถึง “วิชาความรู้” และความหมายที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งบัญญัติตามโลกทัศน์ของชาวตะวันตก และให้นิยามวิชาศิลปะในประเทศไทยว่าเป็นการศึกษาผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอย รวมถึงวิธีการศึกษาตามระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งนี้ การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น นอกจากศึกษาลักษณะเพื่อทราบที่มาของศิลปวัตถุนั้นๆ สำหรับนำมาประยุกต์ในการสร้างสรรค์งานในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการศึกษาเหตุผลของรูปแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และความเชื่อของมนุษย์ในอดีต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีหลักฐานด้านประวัติศาสตร์เพียงพอ เพราะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะต้องพยายามนำตนเองเข้าไปอยู่ในอดีต โดยศึกษาจากวัตถุเป็นข้อมูลพื้นฐาน และใช้ความรู้จากเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรนอกเหนือจากประวัติศาสตร์ เช่น วรรณกรรม คัมภีร์ทางศาสนา เป็นต้น เป็นข้อมูลเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งใช้จินตนาการประกอบ เพื่อขจัดความเป็นอัตตะของตนเองและให้ได้ข้อมูลที่ใกล้กับความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประวัติการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย

ศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา, ๓, ฉบับที่ ๓ (สิงหาคม ๒๕๓๓), หน้า ๓-๒๗.

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงของแนวความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ (ค.ศ. ๑๙๘๔) ซึ่งพิริยะชี้ให้เห็นถึงโลกทัศน์เดิมของไทยที่มีต่องานช่างก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ มาจนถึงทศวรรษ ๒๕๒๐ อันเป็นระยะเวลาที่ปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยเป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในแบบอย่างและวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปกรรม โดยมิได้เข้าใจถึงแนวทางการศึกษาของวิชาการแขนงนี้อย่างแท้จริงที่ควรใช้หลักการศึกษาวัฒนธรรมของมนุษย์จากข้อมูลที่เป็นศิลปโบราณวัตถุ ทั้งนี้ พิริยะต้องการให้ผู้สนใจและนักศึกษาทราบความเป็นมาของวิชานี้อย่างถ่องแท้ และเข้าใจความหมาย เป้าหมาย และประโยชน์ของการศึกษาวิชานี้ได้ชัดเจน นำไปสู่การพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สาระสำคัญที่พิริยะต้องการนำเสนอคือผลการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่างานค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยเกือบทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อศึกษาความเป็นมาของศิลปโบราณวัตถุอันนำไปสู่การศึกษาพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ในอดีตอย่างถ่องแท้อันเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกับวิชาประวัติศาสตร์ แต่ข้อมูลที่ใช้เป็นศิลปโบราณวัตถุแทนเอกสารลายลักษณ์อักษร และใช้ความเปลี่ยนแปลงในแบบอย่างทางศิลปะมาอธิบายให้เป็นระบบวิทยาศาสตร์มากขึ้นสำหรับการศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะโดยเฉพาะ

ประวัติการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย

“ประวัติการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย,” ที่ระลึกงานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (๑๙กันยายน ๒๕๓๓). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๓, หน้า ๓๒-๔๙. บทความนี้มีที่มาจากงานวิจัยที่รับการสนับสนุนจากสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่แรกเริ่มในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๗ เพื่อให้ผู้สนใจและนักศึกษาได้ทราบความเป็นมาของวิชานี้อย่างถ่องแท้และเข้าใจความหมาย เป้าหมาย และประโยชน์ของการศึกษาวิชานี้ได้ชัดเจนและเมื่อทราบจุดประสงค์อย่างชัดเจนแล้วจะได้นำไปพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า งานค้นคว้าด้านนี้เกือบทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อศึกษาความเป็นมาของศิลปโบราณวัตถุอันนำไปสู่การศึกษาพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ในอดีตอย่างถ่องแท้ อันเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกับวิชาประวัติศาสตร์แต่ข้อมูลที่ใช้เป็นศิลปโบราณวัตถุแทนเอกสารลายลักษณ์อักษร และใช้ความเปลี่ยนแปลงในแบบอย่างทางศิลปะสร้างให้เป็นระบบวิทยาศาสตร์มากขึ้นสำหรับการศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ

ประติมากรรมสมัยทวารวดีที่บริเวณถ้ำเขางูจังหวัดราชบุรี

ศิลปและโบราณคดีในประเทศไทย เล่ม ๒. อุไรศรี วรศะริน (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๑๘.

ในการศึกษาประติมากรรมสมัยทวารวดีที่บริเวณเขางู จังหวัดราชบุรี พิริยะกำหนดอายุศิลปะสมัยทวารวดีเป็น ๒ ตอน ได้แก่ ภาพสลักศิลา เป็นภาพพระพุทธรูปไสยาสน์ในถ้ำฝาโถ โดยเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทในถ้ำฤาษี (ที่อยู่ในบริเวณเทือกเขางูเช่นเดียวกัน) ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันคือ พระขนงหนาเป็นสัน กระดูกพระปรางสูง พระนาสิกใหญ่และแบน พระโอษฐ์กว้างหนา ซึ่งพิริยะเห็นว่าเป็นการสร้างภาพแบบพื้นเมือง และจัดกลุ่มไว้ใน “ศิลปทวารวดีรุ่นที่ ๒” คือประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งเป็นเวลาที่อาณาจักรทวารวดีเจริญรุ่งเรืองที่สุด และศิลปกรรมได้วิวัฒนาการเป็นแบบฉบับของตัวเองโดยมีความนิยมแบบพื้นเมืองเป็นเอกลักษณ์ ส่วนภาพปูนปั้น รูปเทพชุมนุมในถ้ำฝาโถและพระพุทธรูปปูนปั้นปางมหาปาฏิหาริย์ในถ้ำจามก็ทำเป็นแบบพื้นเมือง โดยพิริยะระบุอายุเวลาของพระพุทธรูปปูนปั้นไว้ในศิลปะสมัยทวารวดีในระหว่างรุ่นที่ ๒ และรุ่นที่ ๓ (ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓) จากลักษณะของพระพักตร์ที่เป็นรูปสามเหลี่ยม พระหนุแหลม พระขนงติดต่อกันเป็นสัน พระนาสิกยาวแหลม พระเนตรโปน และพระโอษฐ์ยื่น ซึ่งคล้ายกับพระพุทธรูปที่พบที่คูบัวและนครปฐม

ทั้งนี้ จากการที่พิริยะได้กล่าวถึงรายงานการสำรวจถ้ำบริเวณเขางู ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ. ๑๙๖๖) ของกองโบราณคดี กรมศิลปากรในช่วงต้นของบทความ แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาการกำหนดอายุของประติมากรรมสมัยทวารวดีมีความคล้ายคลึงกัน แต่พิริยะมีความเห็นแตกต่างบางประการ เช่น ภาพลายปูนปั้นที่กรอบซุ้มส่วนหนึ่งของประภามณฑลในถ้ำจาม พิริยะพิจารณาว่าไม่ได้ซ่อมในสมัยอยุธยา เพราะลวดลายที่เหลืออยู่น่าจะเป็นลวดลายสมัยทวารวดีเองมากกว่า โดยพิจารณาเทียบเคียงกับลายประภามณฑลของทวารวดีในถ้ำฝาโถ เป็นต้น นอกจากนี้ พิริยะมีข้อสรุปจากการศึกษาประติมากรรมวิทยาของภาพในถ้ำจามที่เห็นว่า การสร้างภาพปางมหาปาฏิหาริย์ได้รับอิทธิพลจากพระคัมภีร์ภาษาบาลี จึงอาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาที่แพร่หลายในบริเวณเทือกเขางู ระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นลัทธิหินยานที่ใช้คัมภีร์ภาษาบาลี

ประติมากรรมในประเทศไทย

แปลโดย พรพิมล เสนาะวงศ์

เมืองโบราณ, ๙: ๓ (สิงหาคม-พฤศจิกายน) ๒๕๒๖, หน้า ๑๒-๕๐.

บทความนี้แปลจากหนังสือเรื่อง Sculpture from Thailand ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ (ค.ศ. ๑๙๘๒) โดยพิริยะแบ่งยุคสมัยของประติมากรรมในประเทศไทยตามกลุ่มวัฒนธรรมที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลเหนือกลุ่มวัฒนธรรมอื่นเป็นหลักดังนี้คือ (๑) สมัยอิทธิพลอินเดีย ประมาณ พ.ศ. ๕๙๓ – ๑๐๔๓ (ค.ศ. ๕๐ – ๕๐๐) (๒) สมัยอิทธิพลมอญ ประมาณ พ.ศ. ๑๐๔๓ – ๑๓๑๘ (ค.ศ. ๕๐๐ – ๗๗๕) (๓) สมัยอิทธิพลอินเดีย – ชวา ประมาณ พ.ศ. ๑๓๑๘ – ๑๔๙๓ (ค.ศ. ๗๗๕ – ๙๕๐) (๔) สมัยอิทธิพลเขมร ประมาณ พ.ศ. ๑๔๘๘ – ๑๗๖๒ (ค.ศ. ๙๔๕ – ๑๒๑๙) (๕) สมัยอิทธิพลมอญ – หริภุญชัย ประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๒ – ๑๘๓๕ (ค.ศ. ๑๒๑๙ – ๑๒๙๒) (๖) สมัยอิทธิพลไทยประเพณี ประมาณ พ.ศ. ๑๘๓๕ – ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๒๙๒ – ๑๘๕๑) (๗) สมัยอิทธิพลตะวันตก ประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๘๕๑ – ๑๙๓๒) และ (๘) สมัยใหม่ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ พิริยะเห็นว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีศูนย์กลางศิลปะที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีรูปแบบตามประเพณีของตนเองและวิวัฒนาการไปตามแนวทางของตน รวมทั้งมีอิทธิพลซึ่งกันและกันด้วย

ประติมากรรมไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์

“ประติมากรรมไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์,” เอกสารที่ระลึกงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ วันที่ ๑๕-๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ จังหวัดลพบุรี. (อัดสำเนา).

ประติมากรรมชิ้นสำคัญของเมืองพิษณุโลก

ศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก, ๔: ๓ (ธันวาคม ๒๕๒๑-มีนาคม ๒๕๒๒), หน้า ๒๐-๒๕.

งานเขียนนี้มีที่มาจากเอกสารบรรยายประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. ๑๙๗๙) ณ วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม ถือเป็นหัวข้อสำคัญเรื่องหนึ่งในการศึกษาเรื่องราวของเมืองพิษณุโลก โดยพิริยะกล่าวสรุปว่า ประติมากรรมชิ้นสำคัญส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น “พระพุทธชินราชและพระพุทธชินศรี” ซึ่งพิริยะวิเคราะห์ว่าน่าจะได้รับอิทธิพลและวิวัฒนาการมาจากพระพุทธรูปสุโขทัยที่รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปล้านนารุ่นแรก “พระอัฎฐารส” ที่อาจมีวิวัฒนาการมาจากประติมากรรมกลุ่มพระศรีศาสดา “เศียรพระพุทธรูปทรงเครื่องในวิหารพระศรีศาสดา” ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๗ (ค.ศ. ๑๔๖๔) ที่แสดงถึงการสืบต่อกันระหว่างศิลปะสุโขทัยและอยุธยา รวมถึง“ภาพแกะสลักไม้รูปเทวดาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๐๓๕ (ค.ศ. ๑๔๙๒) โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีลักษณะการสลักใบหน้าและเครื่องแต่งกายเทวดาใกล้เคียงกับรูปเทวดาบนบานประตูสลักไม้จากเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยานั้น ล้วนเริ่มเกิดขึ้นในระยะเวลาแห่งความรุ่งเรืองทางศิลปะของสุโขทัย และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะของพิษณุโลกได้เสื่อมสลายลงพร้อมกับการย้ายราชธานีกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๐๓๑ (ค.ศ. ๑๔๘๘)

ปกิณกะในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม

ศิลปวัฒนธรรม, ๒๖: ๑ (๑ พฤศจิกายน) ๒๕๔๗, หน้า ๗๘ – ๙๗.

บทความนี้ปรับปรุงจากบทความชื่อเดียวกันที่ผู้เขียนเสนอในการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติครบรอบ ๑๕๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง“ตะวันตกในตะวันออก :สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ห้าถึงปัจจุบัน” จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๗ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรกรุงเทพฯ งานเขียนนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัย พระราชอัธยาศัย และพระปรีชาญาณของรัชกาลที่ ๕ โดยศึกษาจากพระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขา ทั้งนี้ ด้วยสถานภาพที่ทรงเป็นดัง“เจ้าชีวิต” ของชาวสยาม จึงทำให้พระราชนิยมของพระองค์มีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของศิลปะและวัฒนธรรมสยามในรัชสมัยของพระองค์และยังแสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการรับมือกับการคุกคามของชาติตะวันตกได้อย่างชัดเจนที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “การผูกมิตรกับฝรั่ง” ซึ่งเป็นการดำเนินตามพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ หรือ “การเคารพขนบประเพณีของฝรั่ง” ในเรื่องของฉลองพระองค์ กิริยามารยาท และขนบธรรมเนียมแบบตะวันตก ที่ทำให้ทรงได้รับการยอมรับจากพระราชวงศ์ของยุโรปและส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ ที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกมีต่อสยามในเวลานั้น

ปกิณกะในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม

เอกสารประกอบการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติครบรอบ ๑๕๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๗ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรถนนบรมราชชนนี ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ.

ในการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติครบรอบ ๑๕๐ ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗ (ค.ศ. ๒๐๐๔) พิริยะเสนอบทความเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมในรัชกาลที่ ๕ โดยศึกษาจากพระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณของพระองค์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมสยาม ทั้งยังแสดงถึงพระบรมราโชบายในการรับมือกับการคุกคามของชาติตะวันตกได้อย่างชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “การผูกมิตรกับฝรั่ง” ซึ่งเป็นการดำเนินตามพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนกนาถของพระองค์ หรือ “การเคารพขนบประเพณีของฝรั่ง” ทั้งในเรื่องฉลองพระองค์ กิริยามารยาท รวมถึงขนบธรรมเนียมแบบตะวันตก ทำให้ทรงได้รับการยอมรับจากพระราชวงศ์ของยุโรป อันเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตกมีต่อสยามในรัชสมัยของพระองค์

บทความเกี่ยวกับศรีวิชัยเรื่องข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับศิลปะและประวัติศาสตร์แห่งคาบสมุทรภาคใต้

ศรีวิชัย  ๖: ๖ (เมษายน) ๒๕๒๕, หน้า ๓-๑๒.

เนื้อหาของบทความประกอบด้วย ๒ หัวข้อหลักได้แก่ ๑. ความเกี่ยวเนื่องของศิลปะแห่งราชอาณาจักรศรีวิชัยกับคัมภีร์อัศฎาสาหสริกา ปรัชญาปารมิตา อันเป็นคัมภีร์ภาพเขียนทางประติมาณวิทยาของประเทศเนปาลซึ่งเขียนใน พ.ศ. ๑๕๕๘ (ค.ศ. ๑๐๑๕) ปรากฏภาพวาดพระโลกนาถ (รูปหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่มี ๔ กร) ที่มีลักษณะทางประติมาณวิทยาร่วมกันบางประการกับพระโลกนาถที่พบในคาบสมุทรมาเลย์และหมู่เกาะอินโดนีเซีย จนกล่าวได้ว่าอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับที่พบรูปพระโลกนาถ คือ บริเวณใกล้เคียงเมืองปาเลมบังในเกาะสุมาตราตอนใต้ในปัจจุบัน และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับประเทศเนปาลทางด้านศาสนาจากการที่อาณาจักรศรีวิชัยมีชื่อเสียงในโลกแห่งพุทธศาสนาลัทธิมหายานจนกลายเป็นแหล่งการศึกษาทางพุทธศาสนาในเวลานั้น และ ๒. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคำว่า “มลายู” ที่ปรากฏอยู่ในกฎมณเทียรบาล จากปัญหาเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของมลายูที่ปรากฏในกฎมณเทียรบาลรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. ๒๐๑๑ (ค.ศ. ๑๔๖๘) ว่าเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยานั้น พิริยะได้สันนิษฐานว่าระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๘ (ค.ศ. ๑๒๙๕) กับ พ.ศ. ๑๘๙๔ (ค.ศ. ๑๓๕๑) ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา เมืองไชยาที่มลายูปกครองอยู่ ได้กลายมาเป็นประเทศราชของอยุธยาและคงเรียกว่ามลายูตามเดิม ดังนั้น “มลายู” ที่ปรากฏในกฎมณเทียรบาลจึงเป็นดินแดนบริเวณไชยาในปัจจุบันนั่นเอง

แนวการศึกษาและวิจัยสาขาประติมากรรมไทย

เอกสารประกอบการอบรมเรื่อง “แนวการศึกษาและวิจัยทางศิลปกรรมไทย” คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๔-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๒๙.

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะแนะแนวการศึกษาและวิจัยงานสร้างสรรค์ของไทย โดยเน้นให้ผู้วิจัยตระหนักในความหมายของคำที่นำมาใช้กับผลงานสร้างสรรค์ให้สอดคล้องตามยุคสมัย เพื่อให้ผู้วิจัยตัดความเป็นอัตตะนิยมของตนเอง และพยายามเข้าใจโลกทัศน์ของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้นในการศึกษารูปปฏิมาหรือปฏิมากรรม ซึ่งมีความหมายเฉพาะเมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูป และรูปอื่นๆ ที่สร้างขึ้นก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) จึงไม่ควรนำโลกทัศน์แบบตะวันตกที่ให้ความหมายงานศิลปะว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่าในด้านสุนทรียะมาใช้วิจัยงานเหล่านี้ ขณะเดียวกันในการวิจัยงานประติมากรรม ได้แก่ งานปั้น งานหล่อ งานแกะ และงานสลัก ที่สร้างขึ้นหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ต้องใช้แนวการวิจัยตามหลักตะวันตกมาวิจัยในเชิงสุนทรียศาสตร์และอารมณ์ที่แสดงออก ส่วนงานประเภทสื่อความคิดที่ปรากฏขึ้นในประเทศไทยช่วงกลางทศวรรษ ๒๕๒๐ นั้น ผู้สร้างมีจุดประสงค์ให้เป็นงานด้านมโนทัศน์ ซึ่งแตกต่างจากการสร้างงานประติมากรรม เพราะเน้นความคิดมากกว่าอารมณ์ จึงไม่ควรนำแนวการวิจัยประติมากรรมมาใช้กับงานสื่อความคิด โดยพิริยะเปรียบเทียบว่าหากนำแนวการวิจัยงานประติมากรรมมาใช้ในการวิจัยผลงานสื่อความคิด ก็ไม่แตกต่างจากการนำแนวการวิจัยงานประติมากรรมมาใช้กับงานช่างของไทยแต่เดิมเช่นกัน จึงอาจสรุปได้ว่า แนวการศึกษาและวิจัยงานสร้างสรรค์ของไทยนั้นไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน เพราะแนวการวิจัยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการสร้างสรรค์งานนั้นๆ เป็นสำคัญ

แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย

พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.ศรี ทองแถม ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม.

กรุงเทพฯ : จันวาณิชย์ จำกัด แผนกพิมพ์, ๒๕๒๘.

พิริยะกล่าวถึงการศึกษาทัศนศิลป์ในประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหรือการแสดงออกของคนในชาติที่เห็นได้ชัดที่สุดว่าต้องศึกษาควบคู่ไปพร้อมกับการศึกษาความเป็นมาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศาสนา และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ ด้วยเหตุนี้ การจำแนกศิลปะเป็น ๗ ยุคสมัยตามพื้นฐานของอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในแต่ละสมัย อันได้แก่ ๑. สมัยร่วมลักษณะอารยธรรมอินเดีย  ๒. สมัยอารยธรรมมอญ  ๓. สมัยร่วมลักษณะอารยธรรมอินเดีย – ชวา  ๔. สมัยร่วมลักษณะอารยธรรมเขมร ๕. สมัยเปลี่ยนแปลงอารยธรรมมอญ เขมร เป็นอารยธรรมไทย ๖. สมัยอารยธรรมไทย และ ๗. สมัยร่วมลักษณะอารยธรรมตะวันตก ดังที่พิริยะศึกษาค้นคว้าจึงเป็นวิธีการจัดระบบรูปแบบศิลปะที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงภายใต้สิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่กล่าวมา อันเป็นตัวแปรในวิวัฒนาการของรูปแบบทางศิลปะ และเอื้อประโยชน์ต่อการค้นคว้าได้โดยละเอียดอีกด้วย  โดยพิริยะมีจุดประสงค์ในการศึกษาพัฒนาการของทัศนศิลป์ในประเทศไทยคือ เพื่อศึกษาศิลปะในฐานะที่เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมทางด้านวัตถุและด้านจิตใจของผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากกว่าจะศึกษาศิลปะในด้านสุนทรียภาพบริสุทธิ์ ทั้งนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์จากผลงานศิลปะอันเป็นผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นโดยตั้งใจให้เกิดความประทับใจแก่ตนเองและผู้อื่น

แนวการศึกษาประวัติงานช่างในประเทศพม่า

เมืองโบราณ ๑๘, ๓ – ๔ (กรกฎาคม – ธันวาคม, ๒๕๓๕), หน้า ๒๑ – ๒๙.

พิริยะศึกษาประวัติงานช่างในประเทศพม่า พบว่ามีลักษณะใกล้เคียงมากกับของประเทศไทยในอดีต เนื่องจากงานช่างในประเทศพม่าสร้างขึ้นภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และมีแรงบันดาลใจที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์จากอิทธิพลของพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท รวมทั้งมีรากฐานทางวัฒนธรรมจากอินเดียเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอย มิได้มีจุดประสงค์ในการแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจของผู้สร้างสรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์ตามความหมายแบบโลกทัศน์ตะวันตก แต่มีข้อสังเกตว่าในจารึกเมืองพุกามซึ่งนอกจากจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการสร้างวัดและส่วนประกอบต่างๆ ในการก่อสร้างแล้ว ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับค่าจ้างของช่างด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่าการผลิตงานช่างที่เมืองพุกามมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพดีกว่างานช่างของไทยที่ไม่กล้าแสดงฝีมือเต็มที่เพราะอาจถูกเกณฑ์แรงงานไปใช้ในราชการโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเพียงพอ ทั้งนี้ การศึกษาประวัติงานช่างพม่าอาจมีประโยชน์ในการสะท้อนให้เห็นถึงประวัติงานช่างไทยในอดีตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้สามารถกำหนดอายุเวลางานช่างของไทยในสมัยอยุธยาได้ละเอียดมากขึ้นหากนำมาเปรียบเทียบกับงานช่างของไทยที่พบในประเทศพม่าด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษางานช่างพม่าอย่างลึกซึ้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องการเรียนรู้ภาษาพม่าเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณคดีพม่าอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของการศึกษาเพื่อให้ได้ภาพรวมที่ตรงกับความเป็นจริง

ทิศทางและความเป็นไปได้ในการวิจัยศิลปะไทย

ศิลปกรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม – ธันวาคม) ๒๕๓๗, หน้า๓๘-๕๗. จากทิศทางและความเป็นไปได้ในการวิจัยทางด้านศิลปะไทยที่ผ่านมา พิริยะชี้ให้เห็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือ การทบทวนผลงานวิจัยในอดีตว่าได้ค้นคว้าอย่างถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงแท้มากที่สุด ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลเสียต่อการศึกษาและความก้าวหน้าทางวิชาการ ในบทความนี้พิริยะแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอน คือ ๑. แนวทางการวิจัยในอดีต ๒. ข้อวิจารณ์แนวทางการวิจัยในอดีต และ ๓. แนวทางการวิจัยในปัจจุบัน โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและสถาปัตยกรรมสุโขทัยเป็นตัวอย่าง สาระสำคัญของบทความนี้อยู่ที่การตรวจสอบแนวทางการวิจัยในอดีต โดยใช้ศิลปะสุโขทัยเป็นตัวอย่าง ที่ทำให้เห็นว่าความรู้เกี่ยวกับศิลปะสมัยสุโขทัยซึ่งรับรู้กันอยู่แต่เดิมนั้นเป็นข้อมูลที่ได้รับจากการวิจัยที่ตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานโดยปราศจากเหตุผลอันน่าเชื่อถือ และไม่ได้มาจากระบบการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้อายุเวลาของโบราณสถานที่จังหวัดสุโขทัยคลาดเคลื่อนไปจากผลงานวิจัยในปัจจุบันถึง ๔๐๐ ปี พิริยะจึงต้องการให้ผู้ที่ทำงานวิจัยด้านศิลปะไทยเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์ช่วยกันทบทวนความรู้ที่ได้มาจากอดีตว่าน่าเชื่อถือเพียงใดก่อนการสร้างสมมุติฐานเพิ่มเติม และหากเห็นว่ามีข้อผิดพลาดและความไม่ถูกต้องในหลักวิชาการ ก็ควรแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การศึกษาของชาติอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น

ทัศนศิลปสัมพันธ์ไทย-จีนก่อนสมัยรัตนโกสินทร์

ศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๓๒, หน้า ๒๑๕-๒๓๐.

ในการสัมมนาครั้งนี้ พิริยะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนทางด้านทัศนศิลป์ โดยกล่าวถึงบรรพบุรุษของตนซึ่งมีเชื้อสายจีนเพื่อแสดงให้เห็นว่าความเป็นจีนใน ๒๐๐ ปีทำให้กลายเป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ เปรียบได้เช่นเดียวกับศิลปะไทยที่ยืมรูปแบบของจีนมาจนกลายเป็นไทยเช่นกัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในช่วงของประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย โดยการหยิบยืม ดัดแปลง และเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการจนกลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า “เอกลักษณ์ไทย”

ทั้งนี้ พิริยะได้ยกตัวอย่างตั้งแต่ ๒๒๕๐ ปีก่อนคริสตกาล ที่รับเทคโนโลยีการทำสัมฤทธิ์และการปลูกข้าวมาจากประเทศจีน เช่น รูปแบบขวานสัมฤทธิ์ที่พบที่บ้านเชียง ซึ่งมีอายุเวลา ๒๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาลนั้น เป็นรูปแบบของจีน หรือสถูปเจดีย์ในประเทศไทยที่มีรูปแบบร่วมกับของจีน ดังเช่น สถูปจุลประโทนที่นครปฐม ซึ่งแต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นสถูปในลักษณะซ้อนกันขึ้นไปคล้ายกับที่พบในถ้ำยุนกังในประเทศจีน โดยแต่ละด้านมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ๕ พระองค์ สอดคล้องกับการขุดพบพระพุทธรูปซึ่งมีเศียรขนาดต่างๆ กันเป็นจำนวนมากที่จุลประโทน ตลอดจนวิวัฒนาการของลายจีนในประเทศไทย ที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งจีนเข้ามามีบทบาทมากในประเทศไทย เพราะอาณาจักรกัมพูชาเสื่อมลง ดังนั้น ลายไทยที่ปรากฏตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมาจึงเป็นลายที่ขอยืมมาจากจีนสมัยราชวงศ์หยวน ไม่ใช่ลายเขมร เช่น ดอกโบตั๋นบนภาพสลักเรื่องชาดกที่วัดศรีชุม ที่ขอยืมรูปแบบมาจากราชวงศ์ซ้อง จนมาถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ลายจีนแทบไม่เหลือเค้าอยู่ในลายไทย กระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของไทยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ พิริยะยังเห็นว่าลายจีนที่เป็นต้นกำเนิดของลายไทยนั้นเป็นวิวัฒนาการการจากลายของกรีกอีกทอดหนึ่ง ไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นจากธรรมชาติ ดังที่เคยเรียนรู้กันมา

ทวาราวดีและศรีวิชัยในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ

ศิลปะโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ตอนที่ ๑. กรุงเทพฯ: กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๗, หน้า ๖๗-๑๑๐. (เอกสารประกอบการอบรมครู-อาจารย์หมวดสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษา ๔-๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๗).

บทความนี้แสดงถึงความรู้เกี่ยวกับอาณาจักรทวารวดีและศรีวิชัยที่ปะติดปะต่อขึ้นจากผลงานการค้นคว้าของผู้สนใจและนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยพิริยะได้แสดงให้เห็นว่า “ทวารวดี” และ “ศรีวิชัย” เป็นคำที่สมมติขึ้นมาในยุคแรกเริ่มของการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทยซึ่งสิ่งที่เรียนรู้และเข้าใจกันจนกลายเป็นองค์ความรู้กระแสหลักนับแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ (ค.ศ. ๑๙๒๖) เป็นผลจากการค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและนายยอร์ช เซเดส์ ที่มีการตั้งข้อสมมติขึ้นก่อนโดยใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานแล้วจึงนำศิลปวัตถุที่ค้นพบไปสนับสนุนข้อสมมติฐานเหล่านั้น เห็นได้จากข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคำว่า “ทวารวดี” ของนายเซเดส์ ที่อาจตรงกับคำว่า “โทโลโบดิ” จากจดหมายเหตุการเดินทางของหลวงจีนห้วนจั๋งและหลวงจีนอี้จิง

ขณะที่ในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะจะเป็นการพิจารณาวิเคราะห์เปรียบเทียบความใกล้เคียงกันของรูปแบบเป็นหลัก ดังนั้น “ทวารวดี” จึงหมายถึงอาณาจักรที่รุ่งเรืองขึ้นในอารยธรรมมอญที่ภาคกลางของประเทศไทยช่วง พ.ศ. ๑๑๓๓ – ๑๑๙๓ (ค.ศ. ๕๙๐ – ๖๕๐) เช่นเดียวกับอาณาจักรลวปุระหรือลพบุรี การเรียกชื่อศิลปกรรมก็ควรเรียกตามชื่อของเจ้าของอารยธรรมนั้น ศิลปทวารวดีจึงเป็น “ศิลปมอญแห่งอาณาจักรทวารวดี” แทนศิลปทวารวดี ส่วน “ศรีวิชัย” หมายถึงอาณาจักรที่เจริญขึ้นภายใต้อารยธรรมอินเดีย – ชวาในช่วง พ.ศ. ๑๑๘๘ – ๑๓๙๙ (ค.ศ. ๖๔๕ – ๘๕๖) และมีศิลปกรรมที่เรียกว่าร่วมลักษณะอินเดีย – ชวา

ทั้งนี้ พิริยะเห็นว่าข้อสมมติฐานที่มีอยู่เดิมยังไม่มีข้อยุติที่แน่นอน เนื่องจากยังมีการค้นพบและเสนอข้อมูลใหม่ทั้งในด้านศิลปโบราณวัตถุและเอกสารทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอ จึงต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องของสมมติฐานอยู่เสมอ เพื่อให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นปัจจัยที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิชาการต่อไปในอนาคต

ไตรภูมิพระร่วงพระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทยหรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศิลปวัฒนธรรม, ๒๕: ๑ (พฤศจิกายน) ๒๕๔๖, หน้า ๑๕๕ – ๑๖๓. แรกเริ่มเป็นบทความรวมอยู่ในหนังสือ“ไทยคดีศึกษา: รวมบทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิตครบรอบ ๖๐ ปีอาจารย์พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” โดยผู้เขียนมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบต่อจากการค้นคว้าในวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของคุณนิออน บทความนี้เป็นงานเขียนสืบเนื่องจากการศึกษาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่พบว่าเนื้อหาและสำนวนบางส่วนคล้ายคลึงกับข้อความของหนังสือ ไตรภูมิกถา ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบัญญัติชื่อใหม่ว่า “ไตรภูมิพระร่วง” จนนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า เอกสารทั้ง ๒ ชิ้นนี้ น่าจะเป็นผลงานของผู้แต่งคนเดียวกัน โดยเฉพาะลักษณะการบรรยายเมืองสุโขทัยแบบกว้าง ๆ มิได้ระบุชื่อของศาสนสถานหรือสถานที่ใด ๆ อย่างชัดเจนรวมถึงเจตนารมณ์ของผู้แต่งที่ต้องการยกย่องพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหงให้เป็นตัวอย่างของพระญามหาจักรพรรดิราชเช่นเดียวกับที่ปรากฏอยู่ใน ไตรภูมิพระร่วง

ความเป็นไทยในทัศนศิลป

เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องความเป็นไทยที่ควรธำรงไว้ โดยสถาบันไทยคดีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๖-๒๘ มีนาคม ๒๕๒๙, หน้า ๑-๑๙. ประเด็นสำคัญที่พิริยะกล่าวถึงในการสัมมนาเรื่องนี้คือ การทำความเข้าใจว่าความเป็นไทยในทัศนศิลป์คืออะไร และจะธำรงไว้ได้หรือไม่ สำหรับความเป็นไทยในทัศนศิลป์ พิริยะให้คำอธิบายว่าคือ การแสดงค่านิยมของคนในชาติผ่านทางศิลปวัตถุ ซึ่งสะท้อนให้เห็นค่านิยมของคนไทยที่ไม่มีการหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อความอยู่รอด ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยแบ่งแยกชัดเจนระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท ดังนั้น ความเป็นไทยในทัศนศิลป์จึงแสดงออกในรูปแบบของศิลปะชาวเมืองกับศิลปะชาวบ้าน โดยศิลปะชาวเมืองสะท้อนค่านิยมที่ต้องดิ้นรนภายใต้ระบบเศรษฐกิจและอารยธรรมสากลมากกว่าศิลปะชาวบ้านที่ยังคงรักษาลักษณะของความเป็นไทยในอดีตไว้ ส่วนประเด็นการธำรงรักษาความเป็นไทยนั้น พิริยะเห็นว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง เนื่องจากทัศนคติของคนไทยไม่เคยนิยมการดำรงรักษาของโบราณ และหากจะดำรงรักษาไว้ก็ต้องรื้อฟื้นระบบศักดินาขึ้นมาใหม่พร้อมกับปิดประเทศไม่ยอมรับอารยธรรมสากล ทั้งนี้ การเข้าใจว่าความเป็นไทยจำเป็นต้องธำรงไว้เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะคิดว่าความเป็นไทยกำลังจะหายสาบสูญไป แต่ควรเข้าใจเสียใหม่ว่าส่วนของความเป็นไทยที่กำลังหายไปก็คือ ความเป็นไทยที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในปัจจุบันได้จึงต้องจบไปโดยปริยาย นอกจากนี้ พิริยะยังสรุปว่า สภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของสภาพสังคมไทยในอนาคตที่ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอารยธรรมสากลอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น จึงไม่ควรบังคับความเปลี่ยนแปลงหรือดำรงความเป็นไทยไว้ เพราะที่สุดแล้วสภาพสังคมในอนาคตจะเป็นตัวกำหนดให้เกิดทัศนศิลป์ไทยรูปแบบใหม่ขึ้นมาเอง

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไทยคดีศึกษา : รวมบทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิต อาจารย์พันเอกหญิง คุณนิออนสนิทวงศ์ ณ อยุธยา.

กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ป, ๒๕๓๓, หน้า ๒๒๑-๒๓๖.

บทความวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี สืบต่อจากการค้นคว้าของ ดร. คุณนิออน สนิทวงศ์ฯ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ท่านแรกที่แสดงให้สังคมโลกตระหนักถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านรัฐศาสตร์และการทูตจากผลงานวิจัยระดับวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง “The Development of Siam’s Relations with Britain and France in the Reign of King Mongkut 1851 – 1868” เสนอต่อมหาวิทยาลัยลอนดอนใน ค.ศ. ๑๙๖๑

จากการศึกษาจารึกพ่อขุนรามคำแหงและเสนอว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ นั้น พิริยะพบว่าเนื้อหาและสำนวนบางส่วนของจารึกดังกล่าวคล้ายคลึงกับข้อความของหนังสือเรื่อง “ไตรภูมิกถา” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบัญญัติชื่อใหม่ว่า “ไตรภูมิพระร่วง” โดยเฉพาะเนื้อหาและสำนวนบางส่วนใน ปัญจมกัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับข้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหงมาก ทั้งยังปรากฏการใช้คำศัพท์ที่มีความหมายพ้องกันและการใช้รูปประโยคที่มีสำนวนใกล้เคียงกัน โดยไม่ปรากฏในที่อื่นๆ จึงส่อให้เห็นว่าเอกสารทั้งสองชิ้นนี้น่าจะเป็นผลงานของผู้แต่งคนเดียวกัน โดยสันนิษฐานว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิกถา” ในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารใน พ.ศ. ๒๓๗๙ (ค.ศ. ๑๘๓๖) โดยทรงขอยืมข้อความบางตอน คำศัพท์บางคำ และสำนวนจากจารึกของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย หลักที่ ๓ และหลักที่ ๕ และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๘๕๑) แล้ว จึงทรงพระราชนิพนธ์จารึกพ่อขุนรามคำแหง ดังนั้นเนื้อหาในจารึกหลักนี้จึงสะท้อนพระราชดำริเกี่ยวกับหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้แล้วใน “ไตรภูมิกถา” และมีข้อสังเกตว่า พระราชนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายนี้มีความเหมือนจริงในด้านตัวอักษรและใกล้เคียงกับสำนวนและภาษาที่ปรากฏในจารึกของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย มากกว่าในพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิกถา”

การศึกษาและวิจัยทัศนศิลป์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันโดยสังเขป

เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและวิจัยทางศิลปะกับสังคมไทย” จัดโดย สาขาปรัชญา คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ๒๗-๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙. ในการนำเสนอบทความประกอบการสัมมนาครั้งนี้ พิริยะได้จำแนกหมวดหมู่ที่สำคัญของการศึกษาและวิจัยศิลปะในด้านทัศนศิลป์ที่ศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อันได้แก่ (๑) เรื่องเที่ยว (๒) การจำแนกยุคสมัยของศิลปโบราณวัตถุสถาน (๓) การกำหนดอายุเวลาของศิลป-โบราณวัตถุสถาน (๔) การเข้าถึงทัศนศิลป์ (๕) การวิจัยทางทัศนศิลป์กับสังคมไทย (๖) การวิจัยทางทัศนศิลป์กับศิลปะสาขาอื่นๆ (๗) การอนุรักษ์ และ (๘) การวิเคราะห์งานวิจัยทางทัศนศิลป์ โดยดึงลักษณะเด่นของงานวิจัยแต่ละเรื่องมาแบ่งเป็นหมวดหมู่เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของการวิจัยศิลปะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการจำแนกเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหนึ่งของการศึกษาและวิจัยทางศิลปะทางด้านทัศนศิลป์ โดยที่การวิจัยในแต่ละหมวดข้างต้นส่วนใหญ่มักกระทำหลายหมวดควบคู่กันไป จึงไม่สามารถแยกกันได้อย่างเป็นเอกเทศ นอกจากนี้ พิริยะยังเห็นว่าแนวทางการศึกษาและวิจัยด้านทัศนศิลป์ส่วนใหญ่ที่กระทำอยู่ สะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน (ทศวรรษ ๒๕๒๐) และสนองความต้องการของสังคมที่สำคัญนั่นคือ ความสับสนทางด้านเอกลักษณ์ไทย และการยกมาตรฐานของการเรียนการสอนและการวิจัยในเชิงปฏิบัติในทัศนศิลป์สาขาต่างๆ ส่วนแนวทางการวิจัยในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของสังคมที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่มีแนวโน้มที่จะใช้แนวทางการวิจัยของปัจจุบันที่ละเอียดและลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยพิริยะยกตัวอย่างปัญหากรณีการศึกษาวิจัยการช่างของไทยก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) ที่ผู้วิจัยนำทัศนคติตะวันตกเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ศิลปะ” มาใช้กับการช่างของไทยก่อนการก่อตั้งโรงเรียนศิลปากร พิริยะจึงเห็นควรให้มีการค้นหาแนวทางการวิจัยที่เหมาะสมกับโลกทัศน์เดิมของไทย เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงของสังคมไทยในอดีต และใช้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสังคมไทยในอนาคตได้ เป็นต้น

การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยโดยสังเขป

เอกสารประกอบคำบรรยาย วิชา ป. ๓๑๒ ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๒๙.

การสัมมนาครั้งนี้เป็นการนำความคิดด้านต่างๆ มาอภิปรายประกอบหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบใหม่ในภาคใต้ของประเทศไทยในประเด็นเรื่อง “ศรีวิชัย” ที่เป็นปัญหาถกเถียงกันมาเกือบครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ บัญญัติคำนี้ขึ้นมาใน พ.ศ. ๒๔๖๑ (ค.ศ. ๑๙๑๘) จากการอ่านศิลาจารึก หลักที่ ๒๓ พ.ศ. ๑๓๑๘ (ค.ศ. ๗๗๕) จนกลายเป็นข้อสันนิษฐานว่าศูนย์กลางการปกครองของศรีวิชัยอยู่ที่เมืองปาเลมบัง (Palembang) เกาะสุมาตรา และนำไปสู่ความสนใจต่อการเป็นอาณาจักรศรีวิชัยตั้งแต่นั้นมา ในช่วงเวลาหลังจากนั้นมีนักปราชญ์อีกหลายท่านเชื่อว่า ศูนย์กลางของ ศรีวิชัยน่าจะอยู่บนคาบสมุทรมาเลย์บริเวณอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากพบโบราณวัตถุสถานมากมายที่มีลักษณะ “ศิลปกรรมแบบศรีวิชัย” ที่มีอายุเวลาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘ (คริสต์ศตวรรษที่ ๘ – ๑๓)

ในงานนี้ พิริยะได้วิเคราะห์เกี่ยวกับศิลปะและประวัติศาสตร์แห่งคาบสมุทรภาคใต้ ๒ หัวข้อ ได้แก่ ๑. ความเกี่ยวเนื่องของศิลปะแห่งราชอาณาจักรศรีวิชัยกับคัมภีร์อัศฎาสาหสริกา ปรัชญาปารมิตา ซึ่งเขียนใน พ.ศ. ๑๕๕๘ (ค.ศ. ๑๐๑๕) ว่าบรรดาพระโลกนาถซึ่งเป็นรูปหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมี ๔ กร ที่พบในบริเวณคาบสมุทรภาคใต้และหมู่เกาะอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะทางประติมาณวิทยาคล้ายคลึงกับพระโลกนาถสุวรรณปุระ ศรีวิชัยปุระที่ปรากฏในคัมภีร์ภาพเขียนของประเทศเนปาล ทำให้กล่าวได้ว่าอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่พบรูปพระโลกนาถ คือบริเวณใกล้เคียงเมืองปาเลมบังในเกาะสุมาตราตอนใต้ปัจจุบันนั่นเอง ๒. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคำว่า “มลายู” ที่ปรากฏอยู่ในกฎมณเทียรบาล ที่พิริยะสันนิษฐานว่าระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๘ (ค.ศ. ๑๒๙๕) กับ พ.ศ. ๑๘๙๔ (ค.ศ. ๑๓๕๑) ซึ่งเป็นปีที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา เมืองไชยาที่มลายูปกครองอยู่ได้กลายมาเป็นประเทศราชของอยุธยาโดยคงเรียกว่ามลายูตามเดิม พิริยะจึงเสนอคำว่า “มลายู” ที่ปรากฏในกฎมณ-เทียรบาลซึ่งเขียนขึ้นใน พ.ศ. ๒๐๑๑ (ค.ศ. ๑๔๖๘) ในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถนั้นก็คือบริเวณไชยาในปัจจุบันนั่นเอง

การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะของคณะศิลปศาสตร์

วารสารศิลปศาสตร์, ๑: ๑ (มกราคม – มิถุนายน) ๒๕๔๔, หน้า ๒๑๖ –๒๒๑. จุดมุ่งหมายของบทความนี้ คือการทำความเข้าใจกับคณาจารย์และนักศึกษาในคณะ ตลอดจนผู้ที่สนใจวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ สำหรับเหตุผลที่ว่า เหตุใดวิชานี้จึงต้องขึ้นตรงกับภาควิชาประวัติศาสตร์มากกว่าที่จะอยู่ภายใต้สังกัดของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนอธิบายว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในปัจจุบัน ขณะที่การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะมีจุดมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกับการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ นั่นคือการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจอดีตของมนุษย์ แต่ต่างกันที่ข้อมูลหลักในการศึกษาโดยวิชาประวัติศาสตร์ใช้เอกสารลายลักษณ์อักษรส่วนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเน้นหนักไปที่ข้อมูลทางด้านศิลปะ

การปรับเปลี่ยนยุคสมัยของพุทธศิลป์ในประเทศไทย

เมืองโบราณ, ๒๕: ๒ (เมษายน – มิถุนายน) ๒๕๔๒, หน้า ๑๐-๓๖. งานเขียนชิ้นนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหมวดหมู่ของพุทธศิลป์ไทยให้อยู่บนพื้นฐานของระบบวิธีวิจัยที่ถูกต้องและสอดคล้องกับรากฐานทางศาสนาและวัฒนธรรมของไทยโดยผู้เขียนเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการกำหนดอายุเวลารูปแบบของศิลปะจากที่เคยแบ่งตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์การเมือง เช่น ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรีเชียงแสน และสุโขทัยมาเป็นการกำหนดตามการเปลี่ยนแปลงทางประติมานิรมาณวิทยาหรือความเชื่อและประเพณีทางศาสนาอันได้แก่ ๑) ลัทธิหีนยาน นิกายมหาสังฆิกะและมูลสรรวาสติวาท ๒) ลัทธิมหายาน ๓) ลัทธิหีนยาน นิกายเถรวาท ๔) ลัทธิวัชรยาน ๕) นิกายเถรวาท จากลังกา ๖) นิกายสยามวงศ์ ๗) ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งการกำหนดอายุเวลาโบราณวัตถุสถานของไทยที่แตกต่างไปจากเดิมนี้ ก่อให้เกิดมิติใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะที่มิได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประวัติศาสตร์อย่างที่เคยเป็นมา อันเป็นการขวางกั้นความก้าวหน้าของการค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและประวัติศาสตร์ศาสนาในประเทศไทย

การปรับเปลี่ยนและอายุเวลาของสถาปัตยกรรมอยุธยา

การปรับเปลี่ยนและอายุเวลาของสถาปัตยกรรมอยุธยา, สยามอารยะ, ๒: ๙ (มิถุนายน) ๒๕๓๖, หน้า ๒๙-๔๕. ผู้เขียนเสนอแนะว่าการกำหนดอายุเวลาของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ (ค.ศ. ๑๙๒๖) นั้น ควรมีการพิจารณาใหม่ เนื่องจากมีความบกพร่องของระเบียบวิธีศึกษาในชั้นต้นเพราะการศึกษาในยุคนั้นใช้การเปรียบเทียบโบราณสถานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันกับพุทธสถานที่กล่าวถึงในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยมิได้วิเคราะห์ว่าโบราณสถานที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นของเดิมหรือถูกสร้างขึ้นใหม่ภายหลัง และเมื่อผู้เขียนเปรียบเทียบโบราณสถานที่อยุธยากับเอกสารประเภทต่าง ๆ ของชาวต่างชาติจึงแสดงให้เห็นว่า มีการกำหนดอายุเวลาโบราณสถานที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และมิใช่รูปแบบสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยายุคแรก (พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๒๐๓๑) ซึ่งตรงกับรัชสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองโปรดฯ ให้สร้างกรุงศรีอยุธยาจนถึงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังที่ ตำนานพุทธเจดีย์สยาม จำแนกไว้ ทั้งนี้ผู้เขียนพิจารณาว่าโบราณสถานอันได้แก่ พระปรางค์วัดพุทไธสวรรค์ พระปรางค์วัดมหาธาตุ พระปรางค์วัดราชบูรณะ และ พระปรางค์วัดพระราม เกิดขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ (กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗) ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ (กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘) ดังนั้น ผู้เขียนจึงมิอาจยอมรับได้ในความเชื่อหรือการรับรู้แต่เดิมที่ว่า สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาในสมัยอยุธยายุคแรกนิยมสร้างปรางค์แบบสมัยลพบุรี

การวิเคราะห์การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยในอดีตและปัจจุบันเพื่อเสนอแนะแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะต่อไปในอนาคต

กรุงเทพฯ :สถาบันไทยคดีศึกษา, ๒๕๓๐. (อัดสำเนา)

สืบเนื่องจากที่มีการเรียนการสอนสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นสาขาวิชาหนึ่งของคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ กระทั่งเวลาผ่านไปหนึ่งทศวรรษ สาขาวิชาผลิตบัณฑิตออกมา ๙ รุ่น จำนวน ๕๐ คน ผู้เขียนจึงประเมินผลการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในระดับอุดมศึกษาเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะกับการประกอบอาชีพและความต้องการของตลาดแรงงานและยังได้ข้อคิดเห็นจากบัณฑิตเป็นข้อมูลในการปรับปรุงหลักสูตรของสาขานี้เพื่อความเหมาะสมกับสภาพการศึกษาในเวลานั้น

นอกจากนี้ งานวิจัยยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบประวัติความเป็นมาของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่ยุคสมัยก่อนที่คนไทยจะให้ความสนใจกับประวัติความเป็นมาของโบราณวัตถุสถานจนถึงช่วงเวลาที่ศึกษาวิจัย(พ.ศ. ๒๕๓๐) อันนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ที่ทำงานค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ศิลปะมิให้สับสนในความหมายและจุดมุ่งหมายของการศึกษาวิชาดังกล่าว

พระพุทธชินราช: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะการศึกษาภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นนำสยามสู่สามัญชน

พระพุทธชินราช: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะการศึกษาภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นนำสยามสู่สามัญชน. สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, [ม.ป.ป.].

งานวิจัยเรื่องนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการกำหนดอายุเวลาของพระพุทธชินราชและพระพุทธรูปในหมวดพระพุทธชินราชมีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะตามระเบียบวิธีวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่และเป็นแนวทางในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่สัมพันธ์และไม่ตัดขาดจากบริบททางประวัติศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัยซึ่งความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้นอกจากจะทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างสกุลช่างของศิลปะต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาที่มีการสร้างพระพุทธชินราชแล้ว ยังทำให้ทราบถึงการสร้างภาพลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นนำสยามมีต่อพระพุทธชินราชโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้กำหนด และส่งอิทธิพลดังกล่าวไปสู่สำนึกของสามัญชนจนถึงปัจจุบัน

Contact Piriya Krairiksh Foundation

Address

30/7 Soi Ruamrudee
Ploenchit Road, Lumpini, Pathumwan
Bangkok 10330 Thailand
Copyright © 2022 Piriya Krairiksh Foundation. All Rights Reserved