หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นตำราประกอบการสอนวิชา ป. ๓๑๒ ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย ตามหลักสูตรสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความหมายของวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ความสัมพันธ์และความแตกต่างระหว่างวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะกับวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ แนะนำวิธีการค้นคว้าในระบบวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในอดีต รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย
สาระสำคัญของงานเป็นการบรรยายประวัติการศึกษาโบราณวัตถุสถานที่สร้างขึ้นในอดีตและปัจจุบันของประเทศไทยตามแนวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยแสดงให้เห็นความสัมพันธ์และความแตกต่างของแต่ละวิชา ตลอดจนเสนอแนะหลักวิธีการค้นคว้าในระบบวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างละเอียด พร้อมทั้งเปรียบเทียบการตีความและกำหนดอายุเวลาของโบราณวัตถุระหว่างโลกทัศน์ไทยดั้งเดิมกับโลกทัศน์ตะวันตก จากนั้นจึงรวบรวมความรู้ที่ได้ค้นคว้าใหม่เกี่ยวกับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมาเป็นตัวอย่างของความรู้ที่ได้รับจากการค้นคว้าทางโบราณคดี สำหรับในบทของสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ พิริยะนำความรู้จากการค้นคว้าล่าสุดในเวลานั้นเกี่ยวกับโบราณวัตถุมาเป็นตัวอย่างของความรู้ที่เกิดขึ้นจากการค้นคว้าตามแนวทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อให้นักศึกษาได้ตระหนักถึงความรู้เกี่ยวกับอดีตของประเทศไทยในยุคสมัยที่ยังไม่มีเอกสารลายลักษณ์อักษร นับเป็นผลงานการค้นคว้าทางวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะที่ทำให้นักศึกษาสามารถนำระบบวิธีการวิจัยมาใช้ค้นคว้าหาความรู้เองได้ต่อไป