สมุดภาพบรรพบุรุษตระกูลไกรฤกษ์ จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบร้อยปี (ใน พ.ศ. ๒๕๕๖) ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “ไกรฤกษ์” โดยพระราชทานเป็นลายพระราชหัตถเลขา สกุลไกรฤกษ์เป็นหนึ่งในห้าสกุลแรกที่ได้รับพระราชทานนามสกุลครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม
หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการแนะนำบรรพบุรุษ ตั้งแต่ท่านผู้เป็นต้นตระกูล จนถึงท่านต่าง ๆ ที่มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณร้อยปีที่แล้ว (ซึ่งเทียบเท่าไกรฤกษ์ชั้นที่ ๑ ถึงชั้นที่ ๔) และได้สรุปเกียรติประวัติพร้อมกับแสดงภาพของท่านเหล่านั้น (ถ้าสามารถหาได้)
[อ่านเพิ่ม]
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) บรรพบุรุษ ๓ ท่าน ได้แก่ เจ้าพระยามหิธร พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ และพระยาประเสริฐศุภกิจ ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ทั้งในพระราชสำนักและในฐานะเสนาบดี ความสามารถในการปฏิบัติราชการและความจงรักภักดีของท่าน ประกอบกับการที่รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดปรานเจ้าจอมมารดาชุ่ม (จากสกุลไกรฤกษ์) เป็นอย่างยิ่ง ผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในสกุลนี้จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งนี้ รัชกาลที่ ๖ ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคนในสกุลไกรฤกษ์สืบต่อมาด้วย เรื่องราวของเจ้าจอมมารดาชุ่ม และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ และประวัติของบรรพบุรุษ ๓ ท่านที่กลาวข้างต้นนี้ ได้นำเสนอในภาคที่ ๒ ของหนังสือนี้
รูปถ่ายสมัยร่วมร้อยปีมาแล้วเป็นของหายาก ภาพเก่าในหนังสือนี้หลายภาพยังไม่เคยลงพิมพ์ที่ใด รวบรวมมาได้ด้วยความกรุณาของทายาทหลายสายตระกูล และได้นำมาพิมพ์โดยคงสภาพเดิมไว้ ภาพนอกจากนั้นได้จากหนังสือเกี่ยวกับตระกูลไกรฤกษ์เป็นหลัก ส่วนประวัติ เรื่องประกอบภาพ และการระบุบุคคลในภาพ เป็นการเรียบเรียงข้อมูลจากหนังสือเหล่านี้ และจากความทรงจำของญาติผู้ใหญ่ที่ได้มีโอกาสรู้จักและรับทราบเรื่องราวของท่านในภาพเหล่านั้น โดยมีคุณใจรัก (ไกรฤกษ์) สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และท่านผู้หญิงกุณฑี ไกรฤกษ์ เป็นสำคัญ ซึ่งคณะผู้จัดทำขอกราบขอบพระคุณท่านทั้งสองเป็นอย่างสูง พร้อมนี้ขอขอบพระคุณ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่กรุณาให้คำแนะนำและช่วยตรวจความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ และขอขอบคุณ พญ.จินตนา ศิรินาวิน ที่ช่วยให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำและภาษาเขียน