เจ้าพระยา สายน้ำต้นกำเนิดจากลำน้ำปิงและน่าน ที่บรรจบกัน ณ บริเวณปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นสายน้ำสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่หล่อเลี้ยงชีวิตและชุมชนแถบที่ราบภาคกลางตอนล่างมายาวนานเกือบห้าศตวรรษ หลังจากการขุดคลองลัดทางตอนใต้ของแม่น้ำให้เป็นแนวตรงก่อนไหลออกสู่ปากอ่าวไทย ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนเส้นทางกระแสน้ำจากสภาพคลองลัดตรง ขยายกว้างและลึกจนเป็นแม่น้ำในปัจจุบัน และเปลี่ยนแม่น้ำสายเก่าให้กลายเป็นคลองขนาดเล็ก นโยบายขุดคลองลัดในสมัยพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๗๗ - ๒๐๘๙) ว่ากันว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจการขนส่งการค้าทางน้ำ มีผลให้ชุมชนบ้านเมืองริมสายน้ำขยายตัวเติบโตมาตลอดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากเมืองหลวงอยุธยา สามโคกปทุมธานี ตลาดแก้วตลาดขวัญนนทบุรี และเมืองบางกอก ก่อนออกสู่ปากอ่าวไทย ทำให้สมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ เมืองบางกอกหรือธนบุรีศรีมหาสมุทรได้มีความสำคัญในฐานะราชธานีแห่งใหม่ ชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งอยุธยาหลายแห่งริมสายน้ำได้พัฒนาและเติบโตสูงสุดจนก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ช่วงแรกเริ่มก่อนถนนจะเข้ามามีบทบาทในการสัญจรแทนที่สายน้ำ ปัจจุบันสองฟากฝั่งแม่น้ำยังคงเหลือมรดกศิลปวัฒนธรรมอันเป็นภาพตัวแทนแสดงถึงความหลากหลายของชุมชนชาติพันธุ์ในอดีตของสังคมอยุธยา-กรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นฐานของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวัดในพุทธศาสนา โบสถ์คริสต์ สุเหร่าในศาสนาอิสลามหรือศาลเจ้าในชุมชนจีน ไปจนถึงวัฒนธรรมอาหารการกินบางอย่างที่ยังคงปรากฏอยู่ในชุมชน [อ่านเพิ่ม]
มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้เพื่อร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมในแหล่งมรดกอันทรงคุณค่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุครัตนโกสินทร์สมัยใหม่ระยะเริ่มแรก (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ – พุทธศตวรรษที่ ๒๕) ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความโดดเด่นของศิลปวัฒนธรรมแบบผสมผสานระหว่างโลกตะวันออก ที่มีความหลากหลายไม่ว่าไทย จีน ญวน เขมร ลาว และมอญ กับโลกตะวันตกที่เป็นศิลปะจากยุโรปและโลกอาหรับ จึงได้จัดกิจกรรมสัญจรศึกษาทางน้ำ “ล่องเจ้าพระยา เรียนรู้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม” ด้วยการคัดสรรแหล่งมรดกศิลปะสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ (อันเป็นอิทธิพลศิลปะในพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสำคัญ และเป็นศิลปะในแบบที่เรียกว่า “สยามสมัย” หรือเริ่มต้นยุคสมัยใหม่ที่มีการรับอิทธิพลศิลปะและสถาปัตยกรรมตะวันตก)